วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปราสาทสระกำแพงใหญ่

ปราสาทสระกำแพงใหญ่



ปราสาทสระกำแพงใหญ่ หรือ ปราสาทศรีพฤทเธศวร ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระกำแพงใหญ่ ถนนประดิษฐ์ประชาราษฎร์ หมู่ 1 ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้กับสถานีรถไฟอุทุมพรพิสัย และห่างจากที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตร





สภาพทั่วไปของปราสาท

สภาพทั่วไปของปราสาทสระกำแพงใหญ่ประกอบด้วยระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 49 เมตร ยาว 67 เมตร ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐและบรรณาลัย รวมทั้งหมด 6 หลัง จากภาพถ่ายทางอากาศ ชี้ให้เห็นว่าปราสาทสระกำแพงใหญ่น่าจะมีชุมชนรายรอบอย่างหนาแน่น ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างออกไปประมาณ 400 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เรียกว่า "สระกำแพง" สันนิษฐานว่าน่าจะขุดขึ้นเมื่อครั้งสร้างปราสาท ส่วนทางทิศตะวันออกมีลำห้วยเล็กๆไหลผ่าน คือ ห้วยตาเหมา ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่แยกออกมาจากห้วยสำราญ



ความสำคัญ

ปราสาทสระกำแพงใหญ่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธแบบมหายานเพื่อเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป จากการขุดแต่บูรณปราสาทแห่งนี้ ของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2532 ได้ค้นพบปฏิมากรรมสำริดขนาดใหญ่เฉพาะองค์สูง 140 เซนติเมตร และรวมความสูงทั้งฐาน 180 เซนติเมตร ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ให้ความเห็นว่าเป็นรูปของนันทิเกศวร หรือ นันทีศวร ลักษณะพิเศษ คือเป็นสำริดกะไหล่ทอง เดิมอาจจะตั้งอยู่หน้าปราสาทหลังกลางภายในมุขหน้าปราสาท เพราะโดยปกติจะประจำอยู่กับเทวาลัยของพระอิศวร ปฏิมากรรมชิ้นนี้เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนตอนปลาย สำคัญมากนับเป็มปฏิมากรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา



การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน


ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478




การประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน


ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 255 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน
(
กรมศิลปากร, 2539 : 143 - 144)




ประวัติ

ความเป็นมาของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาในสมัยใดหรือศักราชใด ถึงแม้จะพบจารึกที่โบราณสถานแห่งนี้ ข้อความในจารึกกล่าวถึงการซื้อที่ดินถวายแก่เจ้านายผู้ล่วงลับคือ "กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร" ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างปี พ.ศ. 1585 ที่ปรากฏในจารึกไม่ใช่ปีที่สร้างปราสาท ระยะดังกล่าวในกัมพูชาเป็นสม้ยที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ แต่มิได้หมายถึงพระองค์เป็นผู้สร้าง จากการศึกษาลาดลายต่างๆทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ปราสาทสระกำแพงใหญ่ น่าจะมีอายุอยู่ในศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน หรือประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16 ตอนปลาย
ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นศาสนสถานแบบเขมร ทั้งในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม รวมทั้งความเชื่อในการนับถือศาสนาจากหลักฐานที่ปรากฏสันนิษฐานว่าเดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู โดยดูจากทับหลังที่สลักภาพบุคคลเล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาฮินดู ภายหลังเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้จึงเปลี่ยนเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธโดยได้ขุดพบพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ สูง 1.33 เมตร



จารึกปราสาทสระกำแพงใหญ่




จารึกบริเวณกรอบประตูระเบียบคต
จากจารึกปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่กรอบประตูระเบียงคต มีทั้งหมด 33 บรรทัด เนื้อความย่อมีดังนี้

พระกมรเตงอัญศิวทาส คุณโทศพระสภาแห่งกมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร เมืองสดุกอำพิลร่วมกับข้าราชการคนอื่นๆ คือพระกมรเตง อัญขทุรอุปกัลปดาบส พระกมรเตงอัญศิขเรสวัตพระธรรมศาสตร์ และพระกมรเตงอัญ ผู้ตรวจราชการ แต่ละปักษ์ ซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกับตระพัง (สระน้ำ) เพื่อถวายให้แก่กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ในวันวิศุวสงกราณต์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 มหาศักราช 964 (พ.ศ. 1585)




องค์ประกอบของปราสาท




1.บาราย บารายคือสระน้ำ นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสนสถานประเภทปราสาทหิน เนื่องจากจะต้องใช้นำในการประกอบศาสนพิธี ปกติบารายจะอยู่รอบ หรือทางทิศตะวันออกของศาสนสถาน บารายที่อยู่รอบศาสนสถานนั้นเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรทั้ง 4 ด้านตะวันออกเป็นด้านที่ศาสนิกชนเข้าเฝ้าเทพเจ้า ซึ่งมักจะต้องตักน้ำเพื่อไปสรงศิวลึงค์หรือชำระพระบาทเทพเจ้า บารายที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่นี้อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันไม่เหลือสภาพแล้ว
2.ระเบียงคต ระเบียงคตเป็นกำแพงของศาสนสถานที่ล้อมรอบอาคารศาสนสถานไว้ภายใน ระเบียงคตนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 49 เมตร ยาว 67 เมตร ระเบียงคตมีซุ้มประตูโคปุระ (ซุ้มประตู) ทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ฐานและผนังก่อด้วยศิลาแลงกรอบประตูหน้าต่างทำด้วยหินทรายภายในมีช่องทางเดินกว้าง 3 เมตร สภาพส่วนใหญ่คงเหลือแต่ฐานและผนังบางส่วนเท่นั้น ส่วนที่เป็นหลังคาพังทลายเสื่มสภาพไปแล้ว
3 .บรรณาลัยหรือวิหาร ภายในระเบียงคตเมื่อผ่านซุ้มโคปุระด้านทิศตะวันออกเข้าไปจะพบอาคาร 2 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาคาร ทั้งสองก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื้นออกมาด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังก่อเป็นอิฐทึบแต่แซะร่องให้มีลักษณะเป็นประตูปลอมเลียนแบบประตูจริง อาคาร 2 หลังนี้เรียกว่าวิหารหรือบรรณาลัย เปรียบได้กับหอตรัยของพุทธศาสนา คือใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่ารูปเคารพ
4.ปรางค์ ปรางค์หรือปราสาท เป็นศูนย์กลางของศาสนสถาน เป็นที่ประดิษฐานของรูปเคารพ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ประกอบด้วยปรางค์ 4 หลัง คือ ปรางค์หลังทิศเหนือ ทิศใต้ โดยมีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ปรางค์ทั้ง 3 หลังนี้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีปรางค์เดี่ยวอีกหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันตกค่อนไปทางทิศใต้ภายในระเบียงคต (ที่มีปรางค์หลายหลังเนื่องจากศาสนาฮฺนดูนับถือพระเจ้าหลายองค์ จึงต้องมีที่ประดิษฐานรูปเคารพหลายหลัง) ปรางค์ทั้งหมดมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 4 x 4 เมตร สำหรับปรางค์ประธานมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ปรางค์ทุกหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และมีประตูเข้าออกเพียงด้านเดียว นอกนั้นทำเป็นประตูปลอม
โบราณสถานประเภทปราสาทหิน โดยทั่วไปจะมีทับหลังตั้งอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังนี้เป็นภาพจำหลักเล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา ภาพจำหลักทับหลังปราสาทหินสระกำแพงใหญ่เป็นศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ทับหลังที่พบที่ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่มี่มากถึง 13 แผ่นอยู่ภายในบริเวณปราสาทสระกำแพงใหญ่ ทับหลังที่น่าสนใจได้แก่
1.ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
2.ทับหลังพระกฤษณะประลองกำลังกับม้า
3.ทับหลังพระศิวะทรงโคนนทิ
4.ทับหลังคชลักษมี
5.ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
6 ทับหลังหนุมานถวายแหวน

ศรีสะเกษ



จังหว้ศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งใน 76 จังหวัดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 8,840 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 1.44 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นอีสาน ภาษาเขมร (เขมรสูง) และภาษากวย (กูย, โกย, ส่วย) ตั้งศาลากลางจังหวัดที่ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ




ประวัติจังหวัดศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อ พ.ศ. 2302 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนขึ้นเป็นเมืองนครลำดวน ต่อมาเมืองนครลำดวนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจึงโปรดเกล้าฯ ให้เทครัวไปจัดตั้งเมืองใหม่ที่ริมหนองแตระห่างจากเมืองเดิมไปทางใต้ เมืองใหม่เรียก "เมืองขุขันธ์" หรือ "เมืองคูขัณฑ์" ซึ่งได้แก่อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน
ต่อมา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้แยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงออกจากเมืองขุขันธ์ แล้วตั้งเป็นเมืองใหม่เรียก เมืองศรีสะเกศ
ครั้นรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2455 จึงโปรดให้รวมบ้านเมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกศ และเมืองเดชอุดม เข้าเป็นเมืองเดียวกันเรียก "เมืองขุขันธ์"
ซึ่งต่อมาใน
พ.ศ. 2459 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด ลงวันที่ 19 พฤษภาคม ปีนั้นเอง เมืองขุขันธ์จึงเรียกใหม่เป็น "จังหวัดขุขันธ์" ตามนั้น
ครั้นรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 มาตรา 3 ให้เปลี่ยนชื่อ "จังหวัดขุขันธ์" เป็น จังหวัดศรีสะเกษ (เดิมในพระราชกฤษฎีกาสะกดว่า "ศีร์ษะเกษ") นับแต่นั้น ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481


อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ
จังหวัดยโสธร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ
จังหวัดอุบลราชธานี
ทิศใต้ ติดต่อกับ
ราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ
จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ด


สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด : รูปปรางค์กู่มีดอกลำดวน 6 กลีบอยู่เบื้องล่าง (เดิมใช้ภาพปราสาทหินเขาพระวิหารเป็นตราประจำจังหวัด มาเปลี่ยนเป็นตราปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2512
ดอกไม้ประจำจังหวัด:
ดอกลำดวน (Melodorum fruticosum)
ต้นไม้ประจำจังหวัด:
ลำดวน (Melodorum fruticosum)
คำขวัญประจำจังหวัด: แดนปราสาทขอม ข้าวหอมกระเทียมเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี


ภูมิประเทศ
จังหวัดศรีสะเกษนั้น ตอนใต้มี
ทิวเขาพนมดงรักซึ่งทอดตัวในแนวตัวตกและตะวันออกเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ยอดเขาสูงสุดในจังหวัดชื่อ "พนมโนนอาว" สูงหกร้อยเจ็ดสิบเอ็ดเมตรจากระดับทะเลปานกลาง โดยตั้งอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จากเขาพนมโนนอาวนี้ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดต่ำขึ้นไปทางเหนือลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลอนลาด มีระดับความสูงระหว่างหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรถึงสองร้อยเมตรจากระดับทะเลปานกลาง มีลำน้ำหลายสายไหลผ่านที่ราบลอนลาดนี้ลงไปยังแม่น้ำมูลซึ่งได้แก่ ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ และห้วยขะยุง
ตัวเมืองตั้งอยู่ฝั่งห้วยสำราญ ห่างจากแม่น้ำมูลไปทางทิศใต้ประมาณสิบกิโลเมตร และอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางหนี่งร้อยยี่สิบหกเมตร
ทางตอนเหนือของจังหวัดมีแม่น้ำมูลไหลผ่านเขต
อำเภอราษีไศล อำเภอยางชุมน้อย และอำเภอกันทรารมย์ เป็นระยะทางยาวประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบกิโลมเตร บริเวณนี้ถือเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่อันอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 115-130 เมตร
ภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดศรีสะเกษ มีอากาศร้อนจัดในฤดูร้อนและค่อนข้างหนาวจัดในฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนจะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน โดยมักจะตกหนักในพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัด ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดจะมีปริมารฝนตกน้อย และไม่ค่อยสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยแล้วในปีหนึ่ง ๆ จะมีฝนตก 100 วัน ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,200-1,400 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 10
องศาเซลเซียส สูงสุดประมาณ 40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 26-28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์เฉลี่ยร้อยละ 66-73


ทรัพยากร ป่าไม้
ลักษณะป่าไม้ของจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่เป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วยป่ายาง ไม้เต็ง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้กระบาก และไม้เบญจพรรณ จังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่ป่าไม้แยกเป็นป่าอนุรักษ์ (3 แห่ง 472,075 ไร่) ป่าสงวน (4 ป่า 92,042 ไร่) ป่าชุมชน (อยู่ในเขตป่าสงวน 25,621 ไร่, ป่าไม้ 1,845 ไร่, ป่าสาธารณะประโยชน์ 7,094 ไร่) ป่าเศรษฐกิจ (Zone E: 825,246 ไร่) พื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ร้อยละ 11.67 ของพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
แหล่งน้ำ
จังหวัดศรีสะเกษ มีแหล่งน้ำที่สำคัญและมีผลต่อกิจกรรมการเกษตร การประมง ดังนี้
แม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาดงพญาเย็นในท้องที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ไหลเข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอราษีไศล ไหลผ่านอำเภอยางชุมน้อย อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอกันทรารมย์ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำชี ที่จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ทางทิศเหนือของแม่น้ำมูลลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมีสภาวะน้ำท่วมขังในฤดูฝน
ห้วยทับทัน ไหลมาจาก
อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย ไหลลงไปบรรจบแม่น้ำมูลบริเวณอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
ห้วยสำราญ ไหลมาจากเขตอำเภอปรางค์กู่ ผ่านอำเภอเมืองศรีสะเกษ แล้วไหลลงแม่น้ำมูล ที่เขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ
ห้วยศาลา เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ดัดแปลงทำเป็นเขื่อนเก็บน้ำที่ไหลมาจากห้วยสำราญและมีต้นน้ำจากห้วยพนมดงรัก สามารถบรรจุน้ำได้สูงสุด 52.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ทำการชลประทาน จำนวน 20,400 ไร่ มีน้ำตลอดปี


ประชากร
ในจังหวัดศรีสะเกษมีชุมชนหลายกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการอพยพย้ายครัวเข้ามาของคนเชื้อชาติต่าง ๆ ในอดีต แม้ปัจจุบันยังคงเห็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพและวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ กลุ่มคนที่ว่านี้ได้แก่
ชาวลาว ชาวเขมร ชาวส่วยหรือกูย และเยอ
เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมเป็นหลัก จังหวัดไม่มีทรัพยาการแร่ที่สำคัญแต่อย่างใด แต่มีแร่
รัตนชาติอยู่บ้างเล็กน้อยในอำเภอกันทรลักษ์ โดยในปี พ.ศ. 2550 มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) 44,191 ล้านบาท และรายได้เฉลี่ยของประชากร 29,174 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดของประเทศ
ชาวศรีสะเกษทำนากันมากตามที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและในเขตชลประทานของลำน้ำสายต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็น
นาปีซึ่งมีการเก็บเกี่ยวปีละครั้ง พืชไร่ที่สำคัญคือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปอแก้ว และผักต่าง ๆ นอกจากนี้ ชาวศรีสะเกษนิยมปลูกหอมแดงมากดังปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัด
จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศกัมพูชา) มีจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง คือ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ซึ่งเป็นช่องสำหรับการค้าระหว่างประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ประมาณ 571.756 ล้านบาท
การคมนาคม

จากกรุงเทพมหานครสามารถเดินทางไปยังจังหวัดศรีสะเกษได้ดังนี้
โดยรถไฟ
สายตะวันออกเฉียงเหนือ มาลงที่สถานีศรีสะเกษ ระยะทาง 515.09 กิโลเมตร
โดย
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงทางแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่กิโลเมตรที่ 107 แล้วไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถึงจังหวัดนครราชสีมา แยกทางขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์จึงถึงจังหวัดศรีสะเกษ รวมระยะทาง 571 กิโลเมตร
โดยรถโดยสารประจำทาง สามารถเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ สายตะวันออกเฉียงเหนือ มาลงที่สถานีรขนส่งผู้โดยสารจังหวัดศรีสะเกษได้โดยตรง
โดยเครื่องบิน สามารถเดินทางโดยสายการบินภายในประเทศมายัง
ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และเดินทางต่อมายังจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยระยะทางอีกประมาณ 60 กิโลเมตร